วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุปทาน Supply

อุปทาน (Supply)

ความหมายของอุปทาน

            อุปทาน (Supply) หมายถึง ปริมาณสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ผลิตเต็มใจนำออกเสนอขายในตลาดภายในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ กันของสินค้าและบริการนั้น โดยสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปทานคงที่

จากความหมายของอุปทาน จะเห็นได้ว่าอุปทานประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ

          1.ความเต็มใจที่จะเสนอขายหรือให้บริการ (willingness) กล่าวคือ ณ ระดับราคาต่างๆ ที่ตลาดกำหนดมาให้ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการมีความยินดีหรือเต็มใจที่จะเสนอขายสินค้าหรือให้บริการตามความต้องการซื้อของผู้บริโภค
          2.ความสามารถในการจัดหามาเสนอขายหรือให้บริการ (ability to sell) กล่าวคือ ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการจะต้องจัดหาให้มีสินค้าหรือบริการอย่างเพียงพอที่จะ
ตอบสนองความต้องการซื้อของผู้บริโภค ณ ระดับราคาของตลาดในขณะนั้นๆ (สามารถเสนอขายหรือให้บริการได้) เมื่อกล่าวถึงคำว่า อุปทาน จะเป็นการมองทางด้านของผู้ผลิตซึ่งตรงข้ามกับอุปสงค์ที่เป็นการมองทางด้านของผู้บริโภค ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ความสัมพันธ์ของราคาสินค้าที่มีต่ออุปทานของสินค้านั้นจะเป็นไปตามกฎของอุปทาน (Law of Supply)


กฎของอุปทาน (Law of Supply) 

            กฎของอุปทาน (Law of Supply) จะอธิบายถึงพฤติกรรมของผู้ผลิตในการแสวงหากำไรสูงสุด กฎของอุปทานกล่าวว่า “ปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตเต็มใจจะนำออกขายในระยะเวลาหนึ่งขึ้นอยู่กับราคาสินค้านั้นๆ ในทิศทางเดียวกัน”  กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นปริมาณอุปทานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมากขึ้น เพราะคาดการณ์ว่าจะได้กำไรสูงขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อราคาสินค้าลดลงปริมาณอุปทานจะน้อยลง เนื่องจากคาดการณ์ว่ากำไรที่ได้จะลดลง ลักษณะทั่วไปของเส้นอุปทานจึงเป็นเส้นที่มีลักษณะที่ลากเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวา ภายใต้ข้อสมมติว่าปัจจัยตัวอื่นๆที่มีผลต่ออุปทานมีค่าคงที่
รูปที่ 2.4 ลักษณะทั่วไปของเส้นอุปทาน


ตารางอุปทานและเส้นอุปทาน

            ในทำนองเดียวกันกับตารางอุปสงค์ ตารางอุปทาน (supply schedule) เป็นตารางตัวเลขที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอุปทานของสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
             ตารางอุปทานส่วนบุคคล (individual supply schedule) เป็นตารางตัวเลขแสดงปริมาณอุปทานในสินค้าหรือบริการของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆและเช่นเดียวกันกับกรณีของอุปสงค์ จากตารางนี้เราสามารถนำตัวเลขแต่ละคู่ลำดับของราคาและปริมาณอุปทานมา พลอตเป็นจุด และเมื่อเชื่อมโยงจุดเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เส้นอุปทานส่วนบุคคลตามภาพ 6.7 ซึ่งเป็นเส้นที่มีลักษณะเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวาตามกฎของอุปทาน



               ลักษณะของเส้นอุปทาน (Supply Curve)
               เส้นอุปทาน (Supply Curve) มีลักษณะเป็นเส้นตรงลาดขึ้นจากซ้ายไปขวา ความชัน (Slope) เป็นบวก เนื่องจากราคาและปริมาณการเสนอขายมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน

รูปที่ 2.5 เส้นอุปทานส่วนบุคคลของชวนสวนเงาะแห่งหนึ่ง


อุปทานส่วนบุคคล (Individual Supply) และอุปทานตลาด (Market Supply)

              ในการพิจารณาอุปทาน ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณการเสนอขายสินค้าที่ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งต้องการเสนอขาย เรียกอุปทานนั้นว่า “อุปทานส่วนบุคคล(Individual Supply)” แต่ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณการเสนอขายสินค้าทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ เรียกอุปทานนั้นว่า “อุปทานตลาด (Market Supply)”


รูปที่ 2.6 เส้นอุปทานรวมของตลาดเงาะ


จากตารางและรูป 2.7 แสดงว่าถ้าปัจจัยอื่นคงที่เมื่อราคาของสินค้าหรือบริการสูงขึ้น ทั้งอุปทานส่วนบุคคลและอุปทานรวมจะเพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน เมื่อราคาลดลงปริมาณอุปทาน ทั้งสองประเภทจะลดลงด้วย และถ้าพิจารณาจากกราฟจะเห็นได้ว่าลักษณะของทั้งเส้นอุปทานส่วนบุคคล และอุปทานรวมจะเป็นเส้นที่ลากเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวา ซึ่งเป็นไปตามกฎของอุปทานที่ว่าราคาของสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งจะเป็นปฏิภาคโดยตรงกับปริมาณความต้องการเสนอขายหรืออุปทานในสินค้าชนิดนั้น โดยอยู่ภายใต้ข้อสมมติว่าปัจจัยอื่นๆคงที่

ปัจจัยที่กำหนดอุปทาน

            การที่ผู้ผลิตจะนำสินค้าออกมาเสนอขายมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากราคาของสินค้าชนิดจะเป็นปัจจัยที่กำหนดแล้วยังมีอีกหลายปัจจัย ดังนี้


            ต้นทุนการผลิต การตัดสินใจในปริมาณการผลิตผู้ผลิตจะเปรียบเทียบระหว่างรายได้จากการขายสินค้ากับต้นทุนในการผลิต ต้นทุนการผลิตมีผลต่อปริมาณการผลิตสินค้าโดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม

            ราคาของสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งใดอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อปริมาณเสนอขายสินค้าอีกชนิดหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของสินค้า เช่น สินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย

            สภาพดินฟ้าอากาศ   สภาพดินฟ้าอากาศมีผลกระทบต่อปริมาณการเสนอขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร สภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยจะส่งผลให้อุปทานสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น

            เทคโนโลยี ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการผลิตมาก การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปริมาณผลผลิตด้วย

            นโยบายรัฐบาล  ปริมาณเสนอขายสินค้าอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ เช่น ถ้าจัดเก็บภาษีการค้าเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตอาจลดการผลิตลงเนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงอุปทาน

การเปลี่ยนแปลงของอุปทานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 2 แบบคือ
             การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปทาน (Change in quantity supply) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปทานเนื่องจากราคาสินค้าชนิดนั้นเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ข้อสมมุติปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปทานคงที่ การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปทานจะทำให้ปริมาณการเสนอขายเปลี่ยนแปลงอยู่บนเส้นอุปทานเส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟการเปลี่ยนแปลงของอุปทานดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะของการเคลื่อนไหวอยู่ภายในเส้นอุปทานเส้นเดิม จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ดังรูป จากจุด A ไปยังจุด B )

รูปที่ 2.7 การเปลี่ยนแปลงปริมาณอุปทานในสินค้า y

               การเปลี่ยนแปลงระดับอุปทาน (Change in supply) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปทานเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่ออุปทาน เช่น ต้นทุนการผลิต เทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนแปลง ภายใต้ข้อสมมุติราคาสินค้าชนิดนั้นคงที่ และส่งผลให้เส้นอุปทานเกิดการเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเดิม ถ้าผลการเปลี่ยนแปลงทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นเส้นจะเลื่อนระดับไปด้านขวามือของเส้นเดิม และถ้ามีผลให้อุปทานลดลงเส้นจะเลื่อนระดับไปทางซ้ายมือของเส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟการเปลี่ยนแปลงของอุปทานดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการเคลื่อนย้ายเส้นอุปทานไปทั้งเส้นจากเส้นเดิมไปสู่เส้นใหม่ โดยถ้าเส้นอุปทานเคลื่อนย้ายไปทางขวาของเส้นเดิมแสดงว่าอุปทานเพิ่มขึ้น ถ้าเคลื่อนย้ายไปทางซ้ายแสดงว่าอุปทานลดลง (ตามรูป 2.8)

รูปที่ 2.8 การเปลี่ยนแปลงอุปทานในสินค้า a



ที่มา  https://sci.chandra.ac.th/econ/ch2dseq.doc


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น